กฟผ.ลงนามรัฐบาลพม่า เดินหน้าสร้าง"เขื่อนฮัตจี"
กรุงเทพธุรกิจ 28 เมษายน 2553
สาละวิน – แม่น้ำที่ยังคงไหลอิสระสายเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังคงความบริสุทธิ์มากที่สุดสายหนึ่งในโลก จากเทือกเขาหิมาลัยในบริเวณที่ราบสูงธิเบต สาละวินไหลผ่านมณฑลยูนนานในประเทศจีน สู่ที่ราบสูงรัฐฉาน รัฐคะเรนนี และรัฐกะเหรี่ยงในประเทศพม่า ผ่านชายแดนไทย-พม่าที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนจะวกกลับสู่พม่าที่สบเมย สู่ทะเลอันดามันที่เมืองเมาะละแหม่ง ชาวจีนเรียก นู่เจียง ชาวพม่า เรียก ทาลวิน ส่วนชนเผ่าต่าง ๆ ในไทยและพม่า เรียกขานว่า แม่น้ำคง
ที่ผ่านมาแม่น้ำสาละวินถูกจับจ้องจากนักสร้างเขื่อนทั่วโลก ทั้งสถาบันเงินกู้อย่างธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี), บริษัทที่ปรึกษาระหว่างประเทศสัญชาติต่าง ๆ รวมถึงรัฐบาลสามประเทศในลุ่มน้ำสาละวิน คือ จีน พม่า และไทย (แผนที่)
ในส่วนของลำน้ำนู่หรือสาละวินตอนบน จีนมีแผนสร้างเขื่อน 13-27 เขื่อน แต่ก็มีเสียงทักท้วงอย่างกว้างขวางจากสาธารณชนทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในจำนวนเขื่อนที่วางแผน มี 9 เขื่อนที่ตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์ “สามแม่น้ำไหลเคียง” พื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเมื่อปี 2546 แม้ในพื้นที่ของเขื่อน 13 แห่งทางตอนล่างของจีนจะมีการคำนวณว่าสามารถผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกันได้ถึง 23,200 เมกะวัตต์ แต่ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการระบุว่า ประชาชนประมาณ 70,000-80,000 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์จะต้องอพยพออกจากพื้นที่และชาวบ้านที่อยู่ใต้เขื่อนอีกเรือนหมื่นจะถูกผลกระทบจากเขื่อนเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
ส่วนแม่น้ำสาละวินทางตอนล่างในประเทศพม่าและประเทศไทยก็มีแผนการสร้างเขื่อนอีกหลายเขื่อนเช่นกัน โดยในปี 2539 ประเทศไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากพม่า 1,500 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานมีแผนที่จะเจรจากับพม่าเพื่อเพิ่มการรับซื้อที่ 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะอยู่ภายใต้แผนโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าในภูมิภาคแม่น้ำโขงซึ่งเสนอโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี โดยก่อนหน้านี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ผลักดัน เขื่อนสาละวินตอนบน 4,540 เมกะวัตต์ และเขื่อนสาละวินตอนล่าง 792 เมกะวัตต์ บริเวณชายแดนไทย-พม่าที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ถูกกระแสคัดค้าน ประกอบกับประสบข้อยุ่งยากทางด้านกฎหมายในประเทศไทย โครงการจึงไม่คืบหน้า ล่าสุด กระทรวงพลังงานของไทยมีแผนจะซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนมายตง (เขื่อนท่าซาง) 7,110 เมกะวัตต์ ในรัฐฉาน และ เขื่อนฮัตจี 1,360 เมกะวัตต์ ในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งทั้งสองเขื่อนในอยู่เขตประเทศพม่า
กรุงเทพธุรกิจ 28 เมษายน 2553
ประชาไท 16 กุมภาพันธ์ 2553
มติชน 16 กุมภาพันธ์ 2553
มติชน 14 กุมภาพันธ์ 2553
ข่าวสด 25 พฤศจิกายน 2552
ข่าวสด 25 พฤศจิกายน 2552
ประชาไท 24 พฤศจิกายน 2552
23 พฤศจิกายน 2552
ASTVผู้จัดการ 22 พฤศจิกายน 2552
ASTVผู้จัดการออนไลน์ 22 พฤศจิกายน 2552